วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552

คุณค่าและความงามของบ้านไทย

ภายใต้เปลือกโครงสร้างของ “ บ้าน “ ล้วนมีเรื่องราวที่บอกเล่าถึงความเป็นมา ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของมนุษยชาติ เช่นเดียวกับ “ บ้านไทย “ ที่แม้รูปลักษณ์ในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการเพื่อตอบสนองการอยู่อาศัยที่เป็นสากล แต่เนื้อหาของความเป็นบ้านก็มิได้แปลกไปกว่าเมื่อยุคในอดีต กล่าวคือ ยังคงเป็นสถานที่พักพิงอาศัยที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่เช่นเคย
“ บ้านไทย “ ในปัจจุบันยังคงเผยให้เห็นกระบวนการทางความคิดอันแยบยลของบรรพชนที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน เรายังคงนิยมปลูกบ้านให้แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่นเพื่อให้ได้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติตามวิถีพุทธ แม้ตัวโครงสร้างจะมีการประยุกต์หน้าตาให้แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการพัฒนาตัดทอนองค์ประกอบของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมไทยในพื้นถิ่นต่างๆ ให้ดูเรียบเกลี้ยง เหมาะกับยุคสมัย หลายบ้านเลือกใช้โครงหลังคาที่ลาดชัน แต่ก็มิได้ประดับด้วยเหลาปั้นลมหรือกาแลแบบอดีต หลายบ้านเลือกใช้บานลูกฟักกระจกแทนบานลูกฟักไม้แบบฝาปะกน หลายบ้านนำเอาชานบ้านหรือพื้นที่ว่างแบบสถาปัตยกรรมไทยมาใช้ เพื่อประโยชน์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งส่งต่อผู้อยู่อาศัยไปสู่กิจกรรมการใช้สอยอื่นๆ
เมื่อก้าวเข้าสู่ภายในบ้าน การตกแต่งภายในก็ยังคงเผยให้เห็นรากของวัฒนธรรมและคติความเชื่อต่างๆ ที่ผนวกเข้ากับความเป็นสากลได้อย่างพอเหมาะ แม้ในบางครั้งบางคราเปลือกที่เรามองเห็นจะเรียบนิ่งด้วยเส้นสายแบบทันสมัย แต่ในรายละเอียดของการใช้สีสันวัสดุ เครื่องเรือน และขอบตกแต่งบางอย่าง ก็ยังแสดงถึงความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี


ไอเดียในการออกแบบที่ช่วยเพิ่มบุคลิกความเป็นไทยให้บ้าน

1. ยกใต้ถุนสูง แล้วจัดพื้นที่ใช้สอยเป็นส่วนนั่งเล่นพักผ่อน ส่วนทำงานนอกบ้าน หรือพื้นที่จอดรถ



2. เลือกใช้หลังคาจั่วทรงสูงแบบเรือนไทยที่เหมาะกับภูมิอากาศเขตร้อนและมีฝนตกชุก เพราะสามารถระบายน้ำฝนและระบายอากาศใต้หลังคาได้ดี อาจออกแบบให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นห้องใต้หลังคาหรือห้องเก็บของ เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้มากขึ้น



3. ออกแบบให้ชายครายื่นยาวตลอดตัวบ้านเพื่อป้องกันแสงแดดและฝน พร้อมกับติดรางน้ำ วางโอ่งหรือตุ่มดินเผาไว้ที่มุมบ้านเพื่อรองน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่ และให้โอ่งหรือตุ่มเหล่านี้ช่วยเพิ่มบรรยากาศแบบไทยให้บ้านด้วย


4. ออกแบบให้บ้านมีสัดส่วนที่ไม่ใหญ่มากจนเกินไปและเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับรูปทรงของบ้านเรือนไทย โดยอาจเลือกใช้วิธีออกแบบแยกตัวบ้านออกเป็นหลายหลัง แล้วเชื่อมแต่ละหลังด้วยการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายนอกด้วยชานบ้านหรือทางเดิน (อาจมีหลังคากันแดดกันฝนด้วย) แต่หากต้องการบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยภายในซึ่งมีความต่อเนื่องกันตลอด ก็อาจนำเทคนิคการพรางตาเข้ามาช่วยด้วยการออกแบบบางส่วนของหลังคาบ้านเป็นหลังคาแบน เพื่อแบ่งหลังคาให้ดูไม่ใหญ่มากจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยทำให้บ้านดูเหมือนเป็นหมู่เรือนที่มีบ้านหลายหลังอยู่ร่วมกัน


5. ออกแบบเป็นเรือนหลังเล็กๆ หลายหลัง โดยแต่ละหลังแบ่งหน้าที่ใช้สอยแตกต่างกันไป ( เรือนหนึ่งหลังอาจเป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนในบ้าน แล้วมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันในเรือนหลังใหญ่ ) พร้อมกับเชื่อมต่อทุกๆ หลังด้วยชานเพื่อให้สามารถต่อเติมเพิ่มได้ภายหลัง เป็นการออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตแบบครอบครัวขยายอย่างไทยๆ



6. ทำบันไดขึ้นลงนอกตัวบ้านเพื่อสร้างบรรยากาศแบบเรือนไทย หากเป็นบ้านสองชั้นที่มีพื้นที่ใช้สอยด้านล่างด้วย ก็อาจออกแบบให้มีบันไดสองแห่ง โดยเพิ่มบันไดภายในบ้านเข้าไปด้วย เพื่อความสะดวกในการใช้งานช่วงกลางคืนหรือเวลาที่มีแดดและฝน


7. นำองค์ประกอบโครงสร้างและส่วนตกแต่งของเรือนไทยที่มีลักษณะโดดเด่นมาใช้ประดับตัวบ้าน เช่น ค้ำยัน กรอบหน้าต่าง-ประตูที่มีลักษณะสอบเข้า โดยอาจประยุกต์ ดัดแปลง หรือลดทอนรายละเอียดบางส่วนลง เพื่อให้ส่วนต่างๆ เหล่านี้เข้ากับบ้านสมัยใหม่มากขึ้น เช่น การใช้ค้ำยันเหล็กทาสีแทนไม้ หรือลดลวดลายงานแกะสลักขององค์ประกอบเหล่านี้ลง



8. ตกแต่งผนังบ้านบางส่วนเป็นลวดลายฝาเรือนสมัยก่อน ทั้งฝาปะกน ฝาสายบัว และฝาไม้ขัดแตะ เพื่อให้บ้านมีบุคลิกของเรือนไทยที่ชัดเจนขึ้น หรือออกแบบดัดแปลงเพิ่มช่องแสงหรือทำประตู-หน้าต่าง ให้ดูกลมกลืนกับลวดลายของฝาเรือนเหล่านี้



9. ออกแบบช่องลมไม้ฉลุลวดลายให้สามารถติดมุ้งลวดหรือกระจกได้ เพื่อกันยุงหรือควบคุมอุณหภูมิสำหรับห้องปรับอากาศ และช่วยเพิ่มความสว่างภายในบ้าน



10. เลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ให้อารมณ์ธรรมชาติและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ไม้ อิฐ หรือกระเบื้องดินเผา เพื่อให้บ้านดูอบอุ่นและเป็นกันเองมากขึ้น


1 ความคิดเห็น:

  1. Play with Money Online for Real Money | ChoE Casino
    Online Slots Casino USA | Slots.lv 카지노 로얄 Casino. Join ChoE Casino & grab your Welcome Bonus and play slots at the best real money online casinos.

    ตอบลบ